เจ้าคุณโชติ วัดพระปฐมเจดีย์

พระธรรมวโรดม มีนามเดิมว่า โชติ บัณฑิตกุล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2423 ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง ที่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ในปี พ.ศ.2438 ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมรเมธาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ จำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจที่วัดมหาธาตุฯ และได้มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทเป็นนาคหลวง ในรัชกาลที่ 5 ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2443 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด
พ.ศ.2445 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร
พ.ศ.2454 เป็นกรรมการสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวง และเป็นกรรมการแปลนิบาตชาดก-สันนิบาตบางวรรค เป็นพระที่เคร่งในพระธรรมวินัยและชมชอบความสงัดวิเวก อีกทั้งวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ท่านเริ่มเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมในพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางมากราบนมัสการรับฟังธรรมกับหลวงพ่ออย่างล้นหลาม ด้วยวัตรปฏิบัติอันดีงาม ได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ และเป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ.2465

Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!

จากนั้นในปี พ.ศ.2467 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2455 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระนิกรมุนี
พ.ศ.2466 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี
พ.ศ.2471 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสุธี
พ.ศ.2484 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปิฎก

สมณศักดิ์สุดท้ายได้รับพระราชทานเป็น พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏที่ พระธรรมวโรดม ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ในช่วงปลายปี พ.ศ.2465 มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2497 สิริอายุ 74 ปี พรรษา 54 พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุวัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2498

วัตถุมงคลของวัดพระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม ที่ได้รับความนิยมสูง นอกจาก “เหรียญพระปฐมเจดีย์รุ่นแรก ปี 2465” จัดสร้างโดย เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เนื่องในโอกาสทำบุญฉลองอายุครบ 70 ปี ซึ่งปัจจุบันหาดูหาเช่ายากยิ่งและสนนราคาเช่าหาสูงแล้ว ยังมีอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ “เหรียญหล่อพระคันธารราฐใบเสมา” สร้างโดย “พระธรรมวโรดม” หรือ “หลวงพ่อโชติ ธัมมปัชโชติโก” อดีตเจ้าอาวาส มูลเหตุจัดสร้าง สืบเนื่องจากในราวปี พ.ศ.2472 จ.นครปฐม เกิดฝนแล้งอย่างต่อเนื่องยาวนาน หลวงพ่อโชติ ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ พระเทพสุธี จัดสร้าง “พระพุทธรูปพระคันธารราฐปางขอฝน” จำนวน 150 องค์ แจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ เพื่อนำออกประกอบพิธีบวงสรวงในยามที่เกิดฝนแล้ง รวมทั้งได้จัดสร้างวัตถุมงคล คือ เหรียญหล่อพระคันธารราฐใบเสมา, เหรียญหล่อพระคันธารราฐใบมะยม และเหรียญหล่อรูปเหมือน ในคราวเดียวกัน

เหรียญหล่อพระคันธารราฐใบเสมา สร้างโดยใช้กรรมวิธีการหล่อแบบโบราณ ด้วยเนื้อโลหะผสม รูปทรงเสมาคว่ำ แกะขอบเป็นลายกนกทั้งด้านหน้าและหลัง ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธปฏิมากร ประทับยืนเหนืออาสนะรองรับรูปบัว แสดงปางขอฝน คือ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระในกิริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย หงายฝ่าพระหัตถ์ในกิริยารองรับน้ำฝน ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์อักขระขอมตัวนูน พระเกจิคณาจารย์ที่เข้าร่วมพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกล้วนแต่ระดับสุดยอด ร่วมพิธีครบ 108 รูป ถือเป็นพิธีพุทธาภิเษกที่รวมพระเกจิชื่อดังครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น อาทิ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม เป็นเจ้าพิธีเททอง, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน จ.สุพรรณบุรี, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม, หลวงพ่อเพิ่ม วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อดี วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม กรุงเทพฯ, หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น เหรียญหล่อพระคันธารราษฎร์ใบเสมา นับเป็นเหรียญเก่าแก่ที่มีความงดงามทรงคุณค่าและเป็นที่นิยมสะสม ด้วยความเชื่อที่ว่าจะนำมาซึ่งความมั่งมีศรีสุขและความอุดมสมบูรณ์สู่ตนเองและครอบครัว นับได้ว่าเป็นเหรียญเก่าแก่ที่มีความงดงาม ทรงคุณค่า เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างสูง