หลวงพ่อน้อย คันธโชโต” เป็นพระเกจิดังเจ้าตำรับพระราหูอมจันทร์ เครื่องรางที่ให้คุณ ในด้านของโชคลาภ, การพ้นจากเคราะห์ต่างๆ และเสริมดวงชะตา ต้องยกให้กับพระราหูอมจันทร์ เนื้อกะลาตาเดียว แกะของหลวงพ่อน้อยวัดศรีษะทอง ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
หลวงพ่อน้อย เป็นพระเกจิอาจารย์เชื้อสายลาว ที่มีวิทยาคมแก่กล้ารูปหนึ่ง
อัตโนประวัติ มีนามเดินว่า “น้อย นาวารัตน์” เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2435 ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ ปีมะโรง ที่บ้านตำบลศรีษะทอง โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายมาและนางมี นาวารัตน์ หลวงพ่อน้อยมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน เป็นบุตรคนสุดท้อง โยมบิดาของหลวงพ่อน้อย เป็นหมอรักษาโรคแบบแผนโบราณและเป็นหมอไสยศาสตร์ ที่เก่งกล้าทางอาคม ชาวบ้านเรียกกันว่า “พ่อหมอ” อยู่ยงคงกระพัน ขนาดเอามีดคมสับเนื้อหนังตัวเองให้ดูได้สบาย ไม่ระคายเคืองผิวหนัง เป็นที่เลื่อมใสของชาวลาวโดยทั่วไป
ในสมัยที่หลวงพ่อน้อยยังอยู่ในเพศฆราวาส กล่าวกันว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็งเป็นอันมาก ช่วยโยมมารดาทำนาปลูกผักอยู่เป็นประจำครั้นว่างจากงานก็ศึกษาอักขระเลขยันต์ คาถาอาคมไสยศาสตร์ ตลอดจนตำรับยาจากโยมบิดาจนเจนจบ ครั้งเมื่อท่านอายุได้ 21 ปี เป็นนิมิตหมายที่ดีในวันพฤหัสบดีขึ้น 12 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 14 เมษายน 2456 ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในบวรพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธาอันแน่วแน่ที่ มีอยู่เป็นนิสัย โดยมีพระอธิการยิ้ว เจ้าอาวาสวัดแค เป็นพระอุปัชฌาจารย์, พระอธิการเกิด วัดงิ้วราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระภิกษุมุน วัดกลางคูเวียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “คนธโชโต”
ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดแคอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรี ษะทอง ในระยะนั้น หลวงพ่อลีเป็นเจ้าอาวาสอยู่และท่านก็ได้ศึกษาวิชาการต่างๆ ที่ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อไตรเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีษะทอง เช่น วิชาการสร้างวัวธนูและราหูอมจันทร์ เป็นต้น
เมื่อหลวงพ่อน้อยได้มีพรรษาที่สูงขึ้น พอดีกับพระอธิการช้อยซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ได้ลาสิกขาไป บรรดาญาติโยมอุบาสก-อุบาสิกา จึงได้นิมนต์หลวงพ่อน้อยขึ้นเป็นเจ้าอาวาส
ท่านได้ปฏิบัติตนตามสมควร ให้สมกับเจตนาของญาติโยมและพัฒนาวัดจนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ต่อมา ได้รับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลปกครองวัดในเขตตำบลของท่านเป็นตำแหน่งสุดท้าย หลวงพ่อน้อยท่านได้สร้างพระเครื่องและเครื่องรางของคลังไว้หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ “พระราหูอมจันทร์” และ “พระโคสุลาภ” หรือวัวธนู โดยเฉพาะ พระราหูอมจันทร์ ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจเครื่องรางและให้การยอมรับมาช้านาน พระราหูอมจันทร์ของวัดศรีษะทองมีลักษณะและวิธีการสืบมาจากหลวงพ่อไตร แต่ได้มีการสร้างมากที่สุดในสมัยหลวงพ่อน้อย เป็นการสร้างตามตำรับใบลานจานอักขระขอมลาวที่นำมาจากประเทศลาวโดยตรง
ความเป็นมาของราหูอมจันทร์ ตามตำนานทางไสยศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า พระราหูเป็นยักษ์ดุร้าย น่ากลัว ผิวดำเป็นเงาวาวเหมือนนิล มีหางเป็นนาคราชและมีพญาครุฑเป็นพาหนะรับใช้ประจำสถิตพำนักอยู่ในอากาศแวด ล้อมด้วยม่านสีดำ แต่เหตุที่ทำให้พระราหูมีเพียงองค์ครึ่งเดียวนั้น
เนื่องจากพระราหู ต้องจักรของพระนารายณ์ตัดขาด เพราะว่าพระราหูแอบดื่มน้ำอมฤต ในขณะที่พระราหูดื่มน้ำอมฤตอยู่นั้น พระอาทิตย์และพระจันทร์ได้มาเห็นเข้า นำความไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงกริ้วเป็นเหตุให้ขว้างจักรไปต้องกายพระราหูขาดครึ่ง แต่พระราหูไม่ตาย เนื่องจากได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไปพระราหูจึงมีความแค้นเคืองต่อพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่คอยเสนอหน้าไปฟ้องพระนารายณ์จึงคอยเฝ้าจับพระอาทิตย์และพระจันทร์กินอยู่ เสมอมา การสร้างพระราหูตามสูตรตำรับของลาวของโบราณ ใช้เพียงกะลาตาเดียว มาแกะเป็นรูปพระราหูอมจันทร์เพียงอย่างเดียว